รถยนต์สมัยนี้มักจะติดไฟสัญญาณแปลกๆ ซึ่งบางทีกฎหมายจราจรที่ค่อนข้างจะโบราณ ก็ไม่ได้กล่าวเอาไว้อย่างชัดเจนว่าอนุญาตให้ใช้สัญญาณอะไรบ้าง ทำให้หลายคนเลือกติดและใช้กันตามอำเภอใจ จนกลายเป็นธรรมเนียมที่หลายคนปฏิบัติต่อๆ กันมา
ความจริงแล้ว ไฟต่างๆ เหล่านี้ เป็นสัญญาณอย่างหนึ่ง และในเรื่องของความปลอดภัยบนท้องถนน ถือว่า "สัญญาณ" นั้นเป็นภาษาของถนน ซึ่งต้องเป็นสากล หมายความว่าไม่ว่าชนชาติใด พูดภาษาใด จะต้องฟังหรืออ่านภาษาของถนนอันเป็นสากลนี้เข้าใจแจ่มชัดเหมือนกันหมด เป็นภาษาเดียวกัน
ไฟหน้าเจ้าปัญหา-สื่อสารผิดๆ
ไฟสัญญาณอันดับแรกที่กลายเป็นธรรมเนียมอันไม่เป็นสากล และน่าจะเกิดอันตรายก็คือ ไฟหน้าใหญ่ ที่ผู้ขับขี่ยวดยานชอบเปิดกัน แว็บๆ ให้หลายคนสงสัยว่ามันหมายความว่าอะไรกันแน่ ในประเทศไทยเรานั้น แปลกันเองได้ความว่า "เอ็งอย่ามาข้าจะไป" หรือ "ผมไปก่อนนะ" หรือ "อั๊วใหญ่กว่าไปก่อน" อะไรทำนองนั้น ก็พอจะเข้าใจกันในประเทศไทยเราว่าหมายความว่าอย่างนั้น ธรรมเนียมนี้ก็ค่อยๆ วิวัฒนาการขึ้นไปเรื่อยๆ จนบัดนี้บนท้องถนนหลวงเข้าใจกันได้อีกความหมายหนึ่งว่า เมื่อรถที่วิ่งสวนมาบนถนนหลวงให้สัญญาณไฟหน้า แว็บๆ ล่ะก็ ให้เตรียมระวังว่าอย่าขับเร็วเกินกฎหมายกำหนด อย่าเดินรถในช่องทางขวา อย่าแซงทางซ้าย ฯลฯ เพราะข้างหน้ามีหน่วยตำรวจทางหลวงคอยดักจับอยู่ สัญญาณนี้เลยกลายเป็นสัญญาณประสานสามัคคีกันในหมู่ผู้ใช้รถบนถนนหลวงไปอีก ความหมายหนึ่ง
ส่วนในต่างประเทศบางแห่ง เช่น ในยุโรปและประเทศอังกฤษ ไฟแว็บหน้าที่เปิดกันแว็บๆ นั้น สัญญาณนี้แปลได้ว่า "เชิญคุณไปได้ ผมให้ทางคุณ" ดังนั้น พวกฝรั่งพวกนี้มาขับรถในเมืองไทย เห็นพี่ไทยเปิดไฟไห้แว็บๆ ก็นึกว่าเหมือนบ้านตัวก็ออกพรวดไปเลย จึงมักจะถูกชนซี่โครงหักไปหลายราย นี่ก็คืออันตรายอีกอย่างหนึ่งที่เป็นภาษาสากล แต่อ่านแปลให้ผิดเพี้ยนไปตามวัฒนธรรมของแต่ท้องถิ่นแต่ละประเทศ
แท้จริงแล้วไฟหน้านี้ใช้ทำอะไรและในภาษาสากลหมายความว่าอย่างไร
ไฟแว็บหน้าใหญ่นั้น จริงๆ แล้วแปลว่า "ระวัง" หรือ "ผมอยู่ตรงนี้" เพื่อเตือนให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ระมัดระวังว่ามีรถอีกคันอยู่ตรงนี้ หรืออีกนัยหนึ่งสัญญาณนี้ใช้แทนสัญญาณแตร ในกรณีที่ใช้แตรไม่ได้ เช่นในเวลากลางคืน กฎหมายห้ามใช้แตร หรือ ในสถานที่ที่มีเครื่องหมายห้ามใช้แตร เพราะจะรบกวนบุคคลอื่น เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน สถานที่ราชการ หรือกรณีที่เป็นกลางวัน จะใช้เตือนรถที่หันหน้าเข้าหา ใช้ไฟแว้บเตือนให้ระวังจะดีกว่าเสียงแตร เพราะแสงนั้นเดินทางได้เร็วกว่าเสียหลายเท่าตัวนัก
นอกจากนั้นยังมีสัญญาณไฟฉุกเฉินที่วัฒนธรรมผันแปร จนเกิดอุบัติถึงแก่ชีวิตในทางหลวงหลายรายแล้ว คือสัญญาณไฟฉุกเฉินนั้น รถสมัยนี้จะติดมาให้ทุกคัน เป็นสัญญาณไฟเหลืองกะพริบทั้งหน้าหลังซ้ายขวารวม 4 ด้าน ตามวัฒนธรรมบ้านเรา หากรถถูกลากจูงก็จะเปิดไฟฉุกเฉินนี้ทันที หรือถ้าผ่านสี่แยกจะไปทางตรงส่วนใหญ่ก็จะเปิดไฟฉุกเฉินนี้ทันที จุดนี้สร้างอันตรายอย่างมากบนทางหลวง เพราะการให้สัญญาณที่ผิดและไม่เป็นสากล
นั่นเพราะว่าผู้ที่สวนทาง หรือผู้ที่ตามหลัง คงจะเดาได้ว่ารถคันที่ให้สัญญาณนี้คงจะไปตรงแต่รถที่ผ่านสี่แยกทางด้านข้าง จะอ่านสัญญาณที่ผิดทันที เพราะจะเห็นสัญญาณเพียงด้านข้าง ข้างหนึ่งข้างใดแค่เพียงด้านเดียว ทำให้เข้าใจว่ารถคันที่ให้สัญญาณฉุกเฉินนี้จะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา แล้วแต่รถคู่กรณีจะอยู่ทางใด เมื่ออ่านผิด รถคันที่อ่านผิดก็จะออกรถไปในทางตรงทันที ก็เกิดชนกันกลางสี่แยกถึงบาดเจ็บล้มตายไปมากจึงขอให้นักขับรถทั้งหลาย พึงระวังในการใช้ไฟสัญญาณฉุกเฉินนี้ให้มาก
ไฟสัญญาณฉุกเฉินนี้ใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง
ชื่อก็บอกว่าเกิดเหตุฉุกเฉิน คือหมายความว่า รถคันเกิดเหตุนั้นไปไม่ได้เพื่อให้รถคันอื่นๆ ทราบว่ารถเราเสียไปไม่ได้ต้องจอดขวางทางอยู่ หรือต้องจอดอยู่เฉยๆ หรือรอความช่วยเหลือ หรือจอดเพื่อดูแลซ่อมแซมอยู่ก็เปิดไฟฉุกเฉินไว้เพื่อให้รถคันอื่นได้รับทราบ หรือขณะที่ขับอยู่บนถนนหลวงมีเหตุที่ต้องจอด เพราะมีสิ่งกีดขวางถนนอยู่จนไม่สามารถเคลื่อนรถได้ ก็ให้เปิดไฟฉุกเฉินนั้น เพื่อให้รถตามหลังมาทราบว่าขณะนี้รถเราจอดอยู่นิ่งๆ บนท้องถนน ความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้นแก่ตัวเราผู้ขับขี่ และแก่บุคคลอื่นที่ตามเรามา จะได้อ่านสัญญาณนี้ออกเป็นภาษาเดียวกัน
กล่าวโดยสรุปก็คือ ไฟสัญญาณฉุกเฉินนี้ จะใช้ต่อเมื่อรถนั้นได้จอดอยู่กับที่เท่านั้น ห้ามไปใช้วิ่งบนท้องถนนแล้วเปิดไฟฉุกเฉิน บางกรณีที่เห็นบ่อยๆ ก็คือ เมื่อรับคนเจ็บป่วยต้องการรีบนำไปส่งโรงพยาบาล ด้วยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็เปิดไฟฉุกเฉินแล้ววิ่ง เพื่อจะได้ถึงโรงพยาบาลเร็วๆ แต่มักปรากฎว่าทั้งคนขับคนเจ็บและญาติ ไม่ค่อยจะถึงโรงพยาบาลส่วนมากจะถึงเพียงสี่แยกใดสี่แยกหนึ่งเท่านั้น
ขับรถหากระมัดระวัง ใช้กฎแห่งความปลอดภัยโดยถูกต้อง ทั้งเทคนิคการขับและสัญญาณให้เป็นสากลโดยแท้ ท่านก็จะเป็นผู้ขับรถอย่างปลอดภัยตลอดไป
ที่มา : บริษัท เชลล์แห่งประเทศ ไทย จำกัด